05 December 2011

อาชีพครูเป็นอาชีพมีเกียรติ


ความหมายและความสำคัญของอาชีพ
        1. ความหมายและความสำคัญของอาชีพ
อาชีพ (Occupation) หมายถึง การทำมาหากินจากการทำงานหรือกิจกรรมใดๆ ที่ก่อให้เกิดผลผลิตและรายได้ เป็นงานที่สุจริต ไม่ผิดศีลธรรมเป็นที่ยอมรับของสังคม
ความสำคัญของอาชีพ
การมีอาชีพ เป็นสิ่งที่สำคัญในวิถีชีวิตและการดำรงชีพในปัจจุบัน เพราะอาชีพเป็นการสร้างรายได้เพื่อเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอาชีพก่อให้เกิดผลผลิตและการบริการ ซึ่งสนองตอบต่อความต้องการของผู้บริโภคและที่สำคัญคือ อาชีพมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศชาติ ความสำคัญของอาชีพจึงเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจชุมชน ส่งผลถึงความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ

        2. ประเภทของอาชีพ
ประเภทของอาชีพสามารถจัดแบ่งได้หลายประเภท ดังนี้
2.1 แบ่งตามลักษณะของอาชีพ ได้แก่
2.1.1 อาชีพอิสระ หมายถึง อาชีพที่ผู้ประกอบการเป็นเจ้าของกิจการ ได้แก่
อาชีพผู้ผลิต เป็นการสร้างผลผลิตขึ้นจำหน่ายเอง เช่น ผลผลิตทางด้านการเกษตร ผลผลิตด้านอาหาร ผลผลิตงานบ้าน งานประดิษฐ์ ผลผลิตงานศิลปหัตถกรรม ฯลฯ
อาชีพผู้บริการ ได้แก่ อาชีพที่อำนวยความสะดวกสบาย หรือสร้างความบันเทิงแก่ผู้บริโภค คือบริการทางการเงิน การบริการอันเป็นสาธารณะ ธุรกิจการโรงแรม บริการนำเที่ยว เป็นต้น
2.1.2 อาชีพรับจ้าง หมายถึง อาชีพที่ทำงานภายใต้การว่าจ้างจากผู้จ้างงาน หรือทำงานภายใต้ระบบงานที่ตนสังกัด เช่น ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานร้านค้าต่างๆ ช่างระดับต่างๆ เป็นต้น
2.2 แบ่งตามลักษณะของรายได้ และความมั่นคงในอาชีพ ได้แก่
2.2.1 อาชีพหลัก เป็นอาชีพที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการประกอบการ
2.2.2 อาชีพรองหรืออาชีพเสริม เป็นอาชีพที่ใช้เวลานอกเวลางานปกติของอาชีพหลัก เพื่อการมีรายได้เพิ่มขึ้น
2.3 แบ่งตามเนื้อหาวิชาของอาชีพ
สามารถจัดกลุ่มอาชีพตามเนื้อหาวิชาได้เป็น 6 ประเภท ดังนี้
2.3.1 อาชีพเกษตรกรรม ถือว่าเป็นอาชีพหลัก และเป็นอาชีพสำคัญของประเทศ ปัจจุบันประชากรของไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ยังประกอบอาชีพนี้อยู่ อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพเกี่ยวเนื่องกับการผลิต และการจัดจำหน่ายสินค้าและ บริการทางด้านการเกษตรซึ่งผลผลิตทางการเกษตรนอกจากใช้ในการบริโภคเป็นส่วนใหญ่แล้วยังใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตทางอุตสาหกรรมอีกด้วย
อาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ การทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ
2.3.2 อาชีพอุตสาหกรรม หมายถึง การผลิตสินค้าอันเนื่องมาจากการนำเอาวัสดุ หรือสินค้าบางชนิดมาแปรสภาพให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้มากขึ้น
2.3.3 อาชีพพาณิชยกรรมและอาชีพบริการ
อาชีพพาณิชยกรรม เป็นการประกอบอาชีพที่เป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างสินค้ากับเงิน ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นการซื้อมาและขายไป ผู้ประกอบอาชีพทางพาณิชยกรรมจึงจัดเป็นคนกลาง ซึ่งทำหน้าที่ซื้อสินค้าจากผู้ผลิตและนำมาขายต่อให้แก่ผู้บริโภค ประกอบด้วย การค้าส่งและการค้าปลีก โดยอาจจัดจำหน่าย ในรูปของการขายตรงหรือขายอ้อม
อาชีพบริการ หมายถึง อาชีพที่ทำให้เกิดความพอใจแก่ผู้ซื้อ การบริการอาจเป็นสินค้า ที่มีตัวตน หรือไม่มีตัวตนก็ได้ การบริการที่มีตัวตน ได้แก่ บริการขนส่ง บริการทางการเงิน ส่วนบริการที่ไม่มีตัวตน ได้แก่ บริการท่องเที่ยว บริการรักษาพยาบาล เป็นต้น
2.3.4 อาชีพคหกรรม ได้แก่ อาชีพที่เกี่ยวกับการประกอบอาหาร ขนม การตัดเย็บ การเสริมสวย ตัดผม เป็นต้น
2.3.5 อาชีพหัตถกรรม ได้แก่ อาชีพที่เกี่ยวกับงานช่าง โดยการใช้มือในการผลิตชิ้นงานเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ อาชีพจักสาน แกะสลัก ทอผ้าด้วยมือ ทอเสื่อ เป็นต้น
2.3.6 อาชีพศิลปกรรม การประกอบอาชีพศิลปกรรม ได้แก่ อาชีพเกี่ยวข้องกับการแสดงออกในลักษณะต่าง ๆ เช่น การวาดภาพ การปั้น การดนตรี ละคร การโฆษณา ถ่ายภาพ เป็นต้น
             ครู อาชีพครู วิชาชีพครู งานที่มีเกียรติและเป็นงานที่สร้างคนให้กับสังคม
ครู คือบุคคลที่มีหน้าที่ หรือมีอาชีพในการสอนนักเรียน เกี่ยวกับวิชาความรู้ หลักการคิดการอ่าน รวมถึงการปฏิบัติและแนวทางในการทำงาน โดยวิธีในการสอนจะแตกต่างกันออกไปโดยคำนึงถึงพื้นฐานความรู้ ความสามารถและเป้าหมายของนักเรียนแต่ละคน ปัจจุบันบุคคลที่จะทำอาชีพนี้จะต้องได้ใบประกอบวิชาชีพครูด้วยคล้ายๆกับหมอแล้วครับ
             คำว่า “ครู” มาจากศัพท์ภาษาสันสกฤต “คุรุ” และภาษาบาลี “ครุคุรุ” ครูในระดับอุดมศึกษา
ผู้สอนในวิทยาลัย มหาวิทยาลัย หรือระดับอุดมศึกษา จะมีตำแหน่ง อาจารย์ โดยอาจารย์ที่ได้รับตำแหน่งทางวิชาการ ได้แก่ อาจารย์ (อ.)ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.)รองศาสตราจารย์ (รศ.) และ ศาสตราจารย์ (ศ.) ตามลำดับ การได้รับตำแหน่งทางวิชาการเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ตำแหน่งครู คือบุคคลที่ทำหน้าช่วยสอน สอนทบทวน สอนภาคปฏิบัติ แตกต่างจากอาจารย์ที่ สอนภาคบรรยาย

              ครูใหญ่
ครูที่ทำหน้าที่ดูแลระบบทั้งโรงเรียนจะเรียกว่า ครูใหญ่ ซึ่งคล้ายคลึงกับคณบดีหรืออธิการบดี ในระดับอุดมศึกษา โดยหน้าที่ของครูใหญ่มักจะทำหน้าที่ดูแลระบบการจัดการของโรงเรียนมากกว่าการสอนในห้องเรียน ต่อมาเป็นตำแหน่งผู้บริหาร
สถานศึกษา มีทั้งครูใหญ่…, อาจารย์ใหญ่…, ผู้อำนวยการ… ณ ปัจจุบันใช้ ”ผู้อำนวยการสถานศึกษา” เช่น ผู้อำนวยการโรงเรียน…, ผู้อำนวยการวิทยาลัยทำหน้าที่บริหารสถานศึกษา แต่ต้องมีชั่วโมงปฏิบัติการสอนอย่างน้อย 5 ชั่วโมง / สัปดาห์

              จรรยาบรรณครู พ.ศ. 2539
1.ครูต้องรักและเมตตาศิษย์ โดยให้ความเอาใจใส่ช่วยเหลือส่งเสริม ให้กำลังใจในการศึกษาเล่าเรียนแก่ศิษย์โดยเสมอหน้า
2.ครูต้องอบรม สั่งสอน ฝึกฝน สร้างเสริมความรู้ ทักษะและนิสัย ที่ถูกต้องดีงาม ให้เกิดแก่ศิษย์ อย่างเต็มความสามารถด้วยความบริสุทธิ์ใจ
3.ครูต้องประพฤติ ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ
4.ครูต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์และสังคมของศิษย์
5.ครูต้องไม่แสวงหาประโยชน์อันเป็นอามิสสินจ้างจากศิษย์ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ และไม่ใช้ให้ศิษย์กระทำการใด ๆ อันเป็นการหาผลประโยชน์ให้แก่ตนโดยมิชอบ
6.ครูย่อมพัฒนาตนเองทั้งทางด้านวิชาชีพ ด้านบุคลิกภาพและวิสัยทัศน์ให้ทันต่อการพัฒนาทางวิทยาการ เศรษฐกิจสังคม และการเมืองอยู่เสมอ
7.ครูย่อมรักและศรัทธาในวิชาชีพครูและเป็นสมาชิกที่ดีต่อองค์กรวิชาชีพครู
8.ครูพึงช่วยเหลือเกื้อกูลครูและชุมชนในทางสร้างสรรค์
9.ครูพึงประพฤติ ปฏิบัติตน เป็นผู้นำในการอนุรักษ์ และพัฒนาภูมิปัญญา และวัฒนธรรมไทยและแน่นอนครับอยากจะเป็นครูก็ต้องสอบให้ได้ครับดังนั้นต้องเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ

No comments:

Post a Comment