03 February 2012

เตรียมดำเนินการโครงการ "English Speaking Year 2012"


ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี ๓๓๕/๒๕๕๔เตรียมดำเนินการโครงการ "English Speaking Year 2012"
กระทรวงศึกษาธิการ เตรียมดำเนินการโครงการ "English Speaking Year 2012" โดยวางแผนให้ ๑ วันใน ๑ สัปดาห์ ทั้งครูและนักเรียนนักศึกษาสื่อสารโดยใช้ภาษาอังกฤษผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ รวมทั้งให้เกิดความกล้าที่จะพูด โดยไม่ต้องกังวลการสื่อสารตามไวยากรณ์ที่ถูกต้อง พร้อมจะเปิดตัวโครงการในวันจันทร์ที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๔
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า
เนื่องจากในปี ๒๕๕๘ ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งภาษาอังกฤษมีความสำคัญในการใช้เพื่อการสื่อสาร ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะส่งเสริมให้สถานศึกษาทุกระดับทุกระบบในสังกัด ได้ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารมากขึ้น โดยในปี ๒๕๕๕ จะประกาศให้เป็นปีของการส่งเสริมการสื่อสารภาษาอังกฤษ ภายใต้โครงการ English Speaking Year 2012 ที่กำหนดให้ภายใน ๑ สัปดาห์ จะต้องมี ๑ วันที่ครูและนักเรียนนักศึกษาได้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน และใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร เช่น จัดมุมภาษาอังกฤษ การฝึกนักเรียนเป็นมัคคุเทศก์ เป็นต้น นอกจากนี้ ศธ.จะมีการอบรมพัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อมภาษาอังกฤษให้กับครูทั่วประเทศด้วย
วัตถุประสงค์ของการดำเนินการตามโครงการนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมและส่งเสริมการสื่อสารภาษาอังกฤษระหว่างครูและนักเรียน รวมทั้งต้องการฝึกความกล้าในการที่จะพูดหรือสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ โดยในขั้นต้นยังไม่จำเป็นต้องกังวลว่าจะพูดหรือสื่อสารแบบใดให้ถูกหลักไวยากรณ์ ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัด ศธ. หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เพื่อวางแผนการทำงานภายใต้โครงการดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม
ปลัด ศธ. กล่าวว่า ในวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๔ ศธ.จะเปิดตัวโครงการดังกล่าว และจะทยอยเริ่มดำเนินการในโรงเรียนที่มีความพร้อมก่อนจะขยายไปเรื่อยๆ จนคนส่วนใหญ่ของประเทศไทยสามารถพูด สื่อสาร และใช้ภาษาอังกฤษได้ พร้อมกันนี้จะดำเนินการจัดอบรมครูทั่วประเทศให้มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ ทั้งการสื่อสาร และการเรียนการสอน โดยจะดำเนินการกิจกรรมตามโครงการ ร่วมกับสถานทูต องค์กรต่างประเทศ หรือตัวแทนจากสถาบันภาษาเข้าร่วม เช่น AUA British Council ฯลฯ โดยโรงเรียนนานาชาติก็จะมีส่วนสำคัญเข้ามาช่วยอบรมพัฒนาครูเพื่อไปสอนในรายวิชาอื่นๆ ด้วย เช่น ศัพท์ช่างของอาชีวศึกษา เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ได้มอบให้ผู้ตรวจราชการ ศธ. ไปสำรวจความพร้อมของโรงเรียนต่างๆ โดยจะแบ่งเป็นพื้นที่ เช่น พื้นที่สีฟ้า-ยังไม่พร้อม สีเขียว-มีความพร้อมปานกลาง สีชมพู-มีความพร้อมมาก เป็นต้น เพื่อเป็นตัวชี้วัดให้เห็นว่าหากพื้นที่ใดมีปัญหาก็จะได้เข้าไปแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด โดยจะพยายามสร้างแรงจูงใจให้กับโรงเรียนด้วย เช่น หากโรงเรียนใดสามารถดำเนินการได้สัมฤทธิผล ก็อาจจะมีรางวัลโดยให้ทุนไปศึกษาดูงานในประเทศอาเซียน เป็นต้น
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน

No comments:

Post a Comment